ไขปัญหาอีกประเด็นที่รับฟังทั้งฝั่งครูผู้สอน ฝั่งผู้ปกครอง และจากมุมมองภายนอกว่า “การเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับวิชาปฏิบัติ ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก ๆ เสียเวลา ไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ” หากเรามัวแต่มองมุมที่เป็นพลังลบ ด้านที่มีแต่ข้อเสีย มีแต่ปัญหา เราอาจตัดสินศักยภาพของเด็กไปแบบไม่รู้ตัว และไปปิดกันความสามารถและพัฒนาการของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว และนั้นคือการเสียโอกาสในอนาคตอีกมาก และเราอาจคาดไม่ถึงก็ได้
ขอแบ่งปันเพื่อเป็นแนวทางในการปรับมุมมอง และวิธีคิด เป้าหมายหลักของการเรียนรู้คืออะไร อยู่ที่ชิ้นงานที่สมบูรณ์ สวย เรียบร้อย ดูดี ไฮโซ หรือกระบวนการเรียนรู้ บทสรุปจากการเรียนรู้ หากเราตอบได้ว่า ชิ้นงานไม่ใช่สิ่งสำคัญ การเรียนรู้ที่ดีนั้นเกิดจาก ทุกกระบวนการเด็ก ๆ ได้ลงมือทำจนเกิดประสบการณ์ พบปัญหาและค้นพบวิธีการแก้ปัญหา รู้วิธีการรับสาร และการส่งสาร สังเกตและสามารถสรุปองค์ความรู้ด้วยตนเอง แสดงว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน ดังนั้นเรามาเริ่มกันเลยนะคะ
บทเรียนที่นำมายกตัวอย่างนี้คือ ระดับปฐมวัยปีที่ 3
กิจกรรม เต่าทองเริงร่า
วัสดุอุปกรณ์หาสิ่งของเหลือใช้ภายในบ้าน เช่น
- กระดาษหน้าเดียว ซองจดหมาย กล่องพัสดุที่คุณพ่อคุณแม่ช๊อปปิ้งออนไลน์วนไปมาเป็นปีแล้ว
- กาว บ้านใครไม่มีก็นำข้าวสวยมาบด ๆ บี้ ๆ ให้เป็นแป้งเปียก
- กรรไกร ถ้าไม่มีก็ใช้มือค่อย ๆ ฉีกเอา ดีซะอีกได้ฝึกสมาธิ ตั้งจิตมั่นคงกับงานที่ทำ
- สีไม้ สีเทียน ถ้าไม่มี ก็ดูแบบทีวีสีข่าวดำ สุดจะคลาสสิค
- เชือก ด้าย ไหม ถ้าไม่มี ก็เชือกผูกรองเท้าพละก็ได้ ไม่ได้ใช้ก็ถอดออกมาก่อน
- สำหรับใบงานที่ส่งให้เป็นต้นแบบ ถ้าไม่มีเครื่องปริ้นเตอร์ก็ใช้มือวาดเอาก็ได้ ไม่ใช่ปัญหา ลายเส้นง่าย ๆ ลองวาดดู เรียนศิลปะกันมาทำได้อยู่แล้ว
เห็นไหมคะ!!! แค่โยนโจทย์ให้ลูก ๆ เตรียมวัสดุอุปกรณ์ ก็ฝึกวิธีการคิดแก้ปัญหา เพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์ เติมพลังบวกให้แก่ชีวิตได้แล้ว อีกทั้งยังสอนเขาว่า อย่าอยากได้ อยากมี เหมือนกับคนอื่น ถ้าในเวลานี้ สถานการณ์แบบนี้ เราไม่สามารถมีได้ แต่เรามีสิ่งที่เหนือกว่า คือวิธีคิดในการแก้ปัญหา
มาต่อกันในขั้นตอนการทำชิ้นงานเลยนะคะ เราไม่ต้องการผลิตยาสีฝัน หรือตีกรอบความคิดให้เด็ก ๆ ดังนั้น เราควรเปิดโอกาสให้เขาได้ฝึกการเลือกและการตัดสินใจด้วยตัวเอง มีทางเลือกให้เขาฝึกเลือก เช่น เต่าทองและใบไม้ก็มีหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ขนาด ฝึกให้เขาเลือก เมื่อเขาเลือกแล้วไม่ว่าจะยาก จะง่าย เขาจะได้รับรู้ว่าสิ่งที่เขาเลือกและตัดสินใจเลือกนั้นส่งผลต่อเขาอย่างไร ดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร หรือสร้างปัญหาให้เขาหรือไม่ และในครั้งต่อไป เขาก็จะใช้เหตุผลมากยิ่งขึ้นในการเลือกและตัดสินใจ สิ่งที่ตามมาคือ ฝึกให้เขารับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ รู้จักที่จะชื่นชมและยอมรับ เราเป็นครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีหน้าที่ให้กำลังใจและชื่นชมเขาในทุกสถานการณ์ ไม่ควรซ้ำเติม “เห็นไหมบอกแล้ว ไม่ฟัง ไม่เชื่อ เป็นไงหละ!!!!” ลบประโยคประเภทนี้ออกจากหน่วยความจำ แล้วใส่ประโยคใหม่เข้าไปแทนที่ “ดีจริง ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่แล้ว คิดว่าครั้งต่อไปจะมีวิธีการเลือกและตัดสินใจอย่างไร?” ขั้นที่ 1 ผ่านไป
สำหรับขั้นที่ 2 คือ ลงมือทำตามแต่ละขั้นตอนตามลำดับ ขั้นตอนนี้ ต้องมีสมาธิสูงในการรับฟังสาร ดูสาร และดำเนินการไปแต่ละขั้น ในขั้นตอนนี้ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนไปเร็ว บางคนไปช้า บางคนไปเร็วมาก บางคนไปช้ามาก ก็ต้องให้เวลาทุกคน รอคอยอย่างใจเย็น ใครไปเร็ว ก็ให้ไปต่ออย่าไปหยุดเขา และช่วยเหลือคนที่กำลังตามมาติด ๆ แต่ที่สำคัญ!!!! คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง อย่าใจร้อน ช่วยทำให้เขา เพราะคิดว่า คนอื่นไปไกลแล้ว ทำไมลูกเราหลานเรายังไปไม่ถึงไหน หน้าที่เราคือ เชียร์ สนับสนุน ช่วยเหลืออยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ เมื่อใดก็ตามที่เรายื่นมือเขาไปทำแทนเขา นั้นหมายถึงเรากำลังสร้างความไม่มั่นใจให้กับเขา เขาจะคิดว่าเราไม่เชื่อใจเขา เราผิดหวังในตัวเขา แล้วจะส่งผลให้เขานั้นเป็นคนที่ทิ้งปัญหา ตัดปัญหาโดยมีคำพูกติดปากของเขาว่า “ไม่รู้” “ทำไม่เป็น” “ไม่เอา” แล้วจังหวะไหนล่ะที่จะเข้าไปช่วยเขา จังหวะที่เราถามเขา แล้วเขาอนุญาตให้เราช่วย การขออนุญาตคือ แสดงถึงการให้เกียรติ การเคารพในความสามารถของเขา เด็ก ๆ เขารับรู้และสัมผัสได้ค่ะ
มาถึงขึ้นตอนสุดท้าย ขั้นนี้สำคัญไม่แพ้ขั้นไหน ๆ คือ คือหัวใจของการเรียน ที่เรียกว่าเรียนหนังสือนั้นเอง ขั้นนี้เด็ก ๆ ต้องมีความสามารถสรุปบทเรียนได้ด้วยตัวเอง เป็นภาษาของเขาเอง ผ่านการสังเกตของเขา โดยเรามีหน้าที่ตั้งคำถาม ตั้งคำถามเยอะ ๆ ตั้งคำถามไปเรื่อง ๆ จนเขาเข้าถึงคำตอบด้วยตนเอง และในขั้นนี้คือ ความรู้ที่ครูชอบสอน ชอบเฉลย ชอบบอก และสุดท้ายตามด้วยชอบบ่นว่าสอนไม่ทัน ตราบใดที่เรายังสอน ยังพูด ยังบอก ไม่มีวันสอนทัน แต่ถ้าเราให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันพูด ช่วยกันแสดงความคิดเห็น แล้วเราทำหน้าที่นำมาเรียงร้อยต่อกัน เราจะสามารถสอนเกินบทเรียนมรเวลาเหลือได้อย่างน่าอัศจรรย์ ถ้าเด็กอนุบาล 3 สามารถตอบได้ด้วยตัวเองว่า “เต่าทองสามารถเดินบนใบไม้ได้ เพราะ เต่าทองติดอยู่กับเชือก เมื่อเราขยับเชือก เต่าทองก็จะขยับตาม” สิ่งนี้จะฝังเป็นองค์ความรู้คงทนของเขาเมื่อใดที่เขาพบสถานการณ์ที่ใกล้เคียง หรือบทเรียนใด สมองจะทำการเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม ความรู้ที่ถูกฝั่งในหน่วยความจำของเขาพลั่งพลูออกมาใช้ เราในถานะที่เป็นครูก็จะไม่มีอารมณ์ขึ้นกับคำตอบของคำถามที่ว่า
ครู “สิ่งนี้เราเรียนมาหรือยัง”
ผู้เรียน “ยังไม่เคยเรียน ยังไม่ได้เรียน จำไม่ได้แล้ว”
จะโทษใครถ้าคนเป็นครูยังคิดแบบเดิม ยังสอนแบบเดิม ยังยึดติดกับกระบวนการเดิม ๆ
เพื่อนครูที่รัก คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ที่กำลังเป็นทุกข์กับการเรียนออนไลน์แบบยาว ๆ ที่มองไม่เห็นปลายอุโมงค์
ถ้าต้องการเพื่อนคู่คิด ต้องการเอาความทุกข์มาแลกกับความสุข ขอเชิญติดต่อเข้ามาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนได้นะคะ จะฝากข้อความไว้ใต้ comment หรือ messenger ก็ได้ค่ะ มิสด้ายป่านและทีมยินดีต้อนรับค่ะ 🥰